แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงเสด็จดับขันธปรินิพพานนานมาแล้ว แต่พระสัทธรรมคำสอนของพระองค์ ยังประโยชน์สุขให้เกิดขึ้นแก่สรรพชีวิตดุจประทีปนำทางมานานกว่า 2,600 ปี

    เหล่าพุทธสาวกตั้งแต่ครั้งพุทธกาลสืบทอดพุทธธรรมด้วยการสวดทรงจำ เรียกว่ามุขปาฐะ กระทั่งเมื่อราวปี พ.ศ. 400 เศษ ในสมัยพระเจ้าวัฏฏคามินีอภัย แห่งประเทศศรีลังกา จึงทรงโปรดให้บันทึกพระไตรปิฎกลงในใบลานเป็นครั้งแรก

    ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันว่า พระไตรปิฎกบาลีของพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ได้ทำหน้าที่เป็น “ธรรมเจดีย์” ที่เก็บบันทึกคำสอนของพระพุทธเจ้าที่เก่าแก่ ดั้งเดิมและสมบูรณ์ที่สุด คัมภีร์ใบลานที่มีการบันทึกในประเทศไทย 2 สายจารีต คือ คัมภีร์ใบลานอักษรขอม และอักษรธัมม์
   
    เนื่องจากใบลานมีอายุจำกัดอยู่ได้เพียงไม่กี่ร้อยปี จึงถือเป็นงานสำคัญของเหล่าพระภิกษุสงฆ์ และพุทธศาสนิกชนที่จะต้องจารคัดลอกคัมภีร์ใบลานใหม่อยู่เนืองๆ โดยมคตินิยมว่า การคัดลอกใบลานเป็นมหากุศลอย่างยิ่ง อานิสงส์ผลบุญในการจารอักขระแต่ละตัว มีมากมายมหาศาลประหนึ่งสร้างโบสถ์สร้างวิหารทีเดียว
   
    แต่ปัจจุบันคัมภีร์ใบลานจำนวนมากถูกปล่อยปละละเลย ผุกร่อนไปตามเวลา อีกทั้งผู้ที่สามารถอ่านอักษรโบราณก็มีน้อยลงไปทุกที
   
    ศูนย์พุทธศาสตร์ศึกษา DCI จึงได้จัดตั้งโครงการรวบรวมและอนุรักษ์พระไตรปิฎกฉบับใบลานขึ้นในปี พ.ศ.2553 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์ รักษา รวบรวม ถ่ายภาพคัมภีร์ใบลาน และจัดทำฐานข้อมูลพระไตรปิฎก เพื่อการศึกษาค้นคว้า สำหรับผู้สนใจทั่วไป ทั้งรูปแบบสื่อสิ่งพิมพ์และดิจิทัล
   
    คัมภีร์พระไตรปิฎกใบลาน ทำหน้าที่เก็บรักษาพุทธธรรมอันล้ำค่ามายาวนาน เปรียบประหนึ่ง ธรรมเจดีย์ อันศักดิ์สิทธิ์ ควรค่าแก่การอนุรักษ์ สืบทอด เป็นมรดกธรรมอันล้ำค่าในพระพุทธศาสนาผู้ใดมีส่วนร่วมในการสถาปนา “ธรรมเจดีย์” ย่อมได้ชื่อว่ามีส่วนสำคัญในการรักษามรดกธรรมและพระวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้คงอยู่เป็นประทีปนำทางแก่อนุชนรุ่นต่อไปตราบนานเท่านาน